ครั้งแรกในไทย ศิริราชปลูกถ่าย “ตับอ่อน” สำเร็จ!
วันนี้ (23 ธ.ค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลาประมาณ 10.15 น. ณ ห้องประชุม อาคารอำนวยการ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิกนพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ อ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร หัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ อ.นพ.สมชัย ลิ้มศรีเจริญ ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และนายสมนึก พิสัยพันธ์ ผู้ป่วยผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนตับอ่อนสำเร็จเป็นรายแรกของไทย ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จในการปลูกถ่ายเปลี่ยนตับอ่อนในครั้งนี้
ศ.คลินิกนพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า นับเป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ของทีมแพทย์ไทย ที่การผ่าตัดเปลี่ยนตับอ่อนให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งโรคเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนเอง ที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยมากมักจะพบในเด็ก ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ ถือเป็นผู้ป่วยเบาหวานส่วนน้อยในประเทศไทย หากเทียบกับเบาหวานชนิดที่2 ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน ที่มักพบในวัยสูงอายุและคนอ้วน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนพบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่1 ในประเทศไทยประมาณร้อยละ10 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีถึง 90% เลยทีเดียว
ด้านศ.นพ.ศุภกรกล่าวว่า ตับอ่อนอาจจะเป็นอวัยวะที่ไม่คุ้นหูนัก ตับอ่อนจะอยู่ด้านหลังกระเพาะอาหาร ลักษณะเป็นอวัยวะทรงรีขวางกลางลำตัว ทำหน้าที่ผลิตน้ำย่อยและผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ตับอ่อนจะสร้างอินซูลินได้น้อยหรือไม่สร้างเลย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยไม่นิ่ง โดยจะสวิงต่ำเกินไปและสูงเกินไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตเป็นอย่างยิ่ง หากต่ำเกินไปอาจช็อคจนเสียชีวิตได้ หากสูงเกินไปจะส่งผลต่อไต ทำให้ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม หลอดเลือดหัวใจตีบ
ในขณะที่ อ.นพ.สมชัย ระบุว่าเดิมการรักษาที่ทำโดยทั่วไปต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่1 คือการฉีดอินซูลินเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 3-4 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ผลดีนัก และโดยมากแล้วผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะมีภาวะไตวายร่วมด้วยเพราะควบคุมน้ำตาลได้ยาก
อ.ดร.นพ.ยงยุทธ อธิบายว่าการปลูกถ่ายเปลี่ยนตับอ่อนนี้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ทำมานานแล้วในอเมริกา โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ.2509 แต่จนถึงทุกวันนี้ทั่วโลกมีผู้ได้รับการปลูกถ่ายเปลี่ยนตับอ่อนเพียง 23,000 คนเท่านั้น โดยราวๆ 17,000 คนอยู่ในอเมริกา และที่เหลือส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป และมีประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคดังกล่าวเล็กน้อยไม่มากนัก
“การเปลี่ยนตับอ่อนที่ทำ ใช้ตับอ่อนจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ แต่ในเมืองไทยยังมีอยู่ไม่มาก แต่ด้วยวิธีนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย การลงชื่อแสดงความจำนงขอรับบริจาคก็มีน้อยเช่นกัน ใน 10 ปีนี้ที่ไปลงนามที่สภากาชาดไทยเราพบคุณสมนึกคนเดียว ทางสภากาชาดเองก็เพิ่งจะกำหนดการจัดสรรอวัยวะตับอ่อนใน 5 ปีที่ผ่านมานี้เองเหมือนกัน ส่วนในเรื่องของการเอาตับอ่อนออกจากร่างกายผู้บริจาคเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทีมแพทย์ที่ชำนาญเพราะมีเส้นเลือดมาก แถมตับอ่อนที่เอาออกมาก็ไม่ทน อย่างตับนี่อยู่ได้เป็น 10 ชั่วโมง แต่ตับอ่อนนี่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตาย ต้องระวังและใช้ความชำนาญสูงพอสมควร ทั้งยังมีข้อจำกัดด้วยว่า ต้องเป็นผู้บริจาคที่อยู่ไม่ไกลพื้นที่ที่เราจะนำมาเปลี่ยนถ่าย เพราะตับอ่อนจะอยู่ข้างนอกร่างกายได้ไม่นาน แล้วต้องเป็นผู้บริจาคที่ไม่เป็นเบาหวาน ไม่มีประวัติตับอ่อนอักเสบจากการดื่มสุรา”
ด้านนายสมนึก ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนตับอ่อนสำเร็จเป็นคนแรก เล่าประวัติอาการป่วยให้ฟังว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่1 ตั้งแต่อายุ 20 พอป่วยได้ 5 ปีก็เกิดภาวะไตวาย ต้องฟอกไต 3 วันต่อ 1 สัปดาห์ ครั้งละ 4-5ชั่วโมง คุณภาพชีวิตแย่มาก เพราะไหนจะต้องระวังเรื่องน้ำตาลที่สวิงตลอดเวลา ฉีดอินซูลินวันละ 4 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก บ่อยครั้งที่น้ำตาลต่ำจนช็อค และสูงขึ้นไปถึงหลักพัน แล้วยังต้องดูแลร่างกายตัวเองจากสภาวะไตวาย จนกระทั่งในพ.ศ.2550 ก็ได้รับบริจาคไตจากผู้ป่วยสมองตาย และผ่าตัดเปลี่ยนไต
“ก็ดีขึ้น ไม่ต้องไปฟอกไต แต่เบาหวานยังเป็นอยู่ จนกระทั่ง 29 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้บริจาคตับอ่อน ผมโชคดีมาก พอผ่าแล้วฟื้นตัวออกจากโรงพยาบาล ระดับน้ำตาลปกติตลอด จากเดิมที่ต้องกังวลตลอดเวลาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลก็ไม่ต้องกังวลอีก ตอนนี้ดูแลเฉพาะเรื่องกินยากดภูมิคุ้มกันเท่านั้น ชีวิตดีขึ้นมากครับ”
อ.นพ.สมชัยกล่าวถึงการผ่าตัดผู้ป่วยรายนี้ว่า เดิมนายสมนึกเคยปลูกถ่ายไตมาแล้ว และเคยปลูกถ่ายตับอ่อนมาแล้ว 1 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ไม่สำเร็จ ตับอ่อนใหม่ที่ใส่เพิ่มเข้าไปทำงานอยู่ 7 วันแล้วเกิดหลอดเลือดอุดตัน จึงต้องผ่าเอาออก คราวนี้ถือเป็นการเปลี่ยนตับอ่อนครั้งที่ 2 ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 3 ชั่วโมง เสียเลือดไม่มากและไม่ต้องให้เลือดเพิ่ม อาการดีจนไม่ต้องพักในห้องไอซียู หลังจากผ่าตัดสามารถพักฟื้นในหอผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้เลย และเพียงแค่ 1 วันตับอ่อนก็สามารถผลิตอินซูลินจนระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ ส่วนเรื่องการกินยากดภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้น เป็นธรรมดาของผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะทุกชนิดที่ต้องกินยาดังกล่าวเพื่อกดภูมิของร่างกายไม่ให้ต่อต้านอวัยวะใหม่ ซึ่งนายสมนึกกินยากดภูมิอยู่แล้วเพราะเปลี่ยนไต
“ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท แต่คุณสมนึกเบิกโดยใช้สิทธิข้าราชการ จริงๆ ค่าผ่าตัดไม่ถึง แต่ที่แพงคือค่ายา มีอยู่ตัวหนึ่งราคาประมาณ 100,000 บาท โดยผู้ป่วยโรคนี้จะต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต ช่วงเดือนแรกหลังผ่าตัดจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องยานี้ประมาณ 2-30,000 บาท แต่หลัง 3 เดือนไปจะปรับให้น้อยลงคือเหลือประมาณ 10,000 บาท โดยยานี้เราจะปรับให้ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ถ้าเทียบแล้วการไม่ผ่าตัดและฉีดอินซูลินไปเรื่อยๆ กับการผ่าตัดแล้วต้องกินยากดภูมิ เชื่อว่าประการหลังคนไข้มีคุณภาพชีวิตดีกว่าแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ศ.คลินิกนพ.ธีรวัฒน์ กล่าวโดยสรุปว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบเพื่อจะไม่เข้าใจผิดว่า การปลูกถ่ายเปลี่ยนตับอ่อนนี้ จะใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เท่านั้น ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือมะเร็งตับอ่อน เนื้องอกตับอ่อน และตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากการดื่มสุรา ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ และหากเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิด1 ที่มีภาวะไตวายร่วมด้วยจะดีมาก ซึ่งในจำนวยผู้ป่วย 23,000 รายทั่วโลกที่เปลี่ยนตับอ่อนไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีภาวะไตวายร่วมด้วย และเปลี่ยนอวัยวะ 2 ชนิดไปพร้อมๆ กัน
“ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 300,000 บาท น่าจะถูกที่สุดในโลกแล้วครับ ถ้าเป็นต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 3,000,000 บาท ตอนนี้บัตรทองยังไม่ครอบคลุม จะเปลี่ยนฟรีเฉพาะไต ตับอาจจะต้องจ่ายเอง แต่เชื่อว่าถ้าวันนี้ออกสื่อไป ผู้ป่วยจะรับทราบมากขึ้น เข้าถึงการรักษาแบบใหม่นี้มากขึ้น และถ้ามีคนรักษามากขึ้น ก็อาจจะมีการบรรจุเอาไว้ในสิทธิประกันก็ได้ครับ” ศ.คลินิกนพ.ธีรวัฒน์ทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น